การเก็บตัวอย่างดิน

การเก็บตัวอย่างดินจากชั้นดิน เป็นขั้นตอนที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับตัวอย่างดินคงสภาพ (Undisturbed Sample) ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของชั้นดินฐานราก ซึ่งจะต้องนำตัวอย่างดินมาใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติทางวิศวกรรมในห้องปฏิบัติการในภายหลัง โดยทั่วไปจะมีการแบ่งประเภทของตัวอย่างดินได้ 3 ประเภท คือ

soil sampling

การเก็บตัวอย่างดิน soil sampling

ก. ตัวแทนตัวอย่างดิน (Representative Sample) ได้แก่ เศษดิน ที่ถูกฉีดล้างขึ้นมาจากก้นหลุม หรือติดมากับใบสว่านจากความลึกต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพไปจากดินเดิมมาก ยังคงมีแต่สี ขนาดเม็ดบางส่วนที่ยังคงเดิม จึงใช้ประโยชน์ได้เพียงการจำแนกประเภทของดิน เท่านั้น

ข. ตัวอย่างดินเปลี่ยนสภาพ (Disturbed Sample) ได้แก่ตัวอย่างดินที่ได้จากกระบอกผ่า (Split Spoon) หรือกระบอกเก็บตัวอย่างขนาดเล็ก ซึ่งคุณภาพของดินเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง เช่น มีการอัดแน่นมากขึ้น และโครงสร้างของดินถูกทำลายเพราะแรงกระแทก จึงมักใช้ประโยชน์ในการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของชั้นดิน และใช้ทดสอบหาคุณสมบัติทางฟิสิกส์ทั่วไปของดินเท่านั้น

ค. ตัวอย่างดินคงสภาพ (Undisturbed Sample) ได้แก่ตัวอย่างดินที่เก็บโดยใช้กระบอกเปลือกบาง (Thin-walled tude) กระบอกเก็บตัวอย่างแบบลูกสูบ (Piston Sample) กระบอกเก็บตัวอย่าง 2 ชั้น (Double tube sample) หรือการเก็บตัวอย่างแท่งดินขนาดใหญ่ (Block sample) ซึ่งออกแบบไว้เฉพาะให้ตัวอย่างดินมีการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด จึงถือได้ว่าอยู่ในสภาพเหมือนอยู่ในชั้นดินเดิม จึงใช้ทำการทดสอบคุณสมบัติได้ทุกอย่าง

ดังนั้นวิศวกรจะต้องทราบว่า ข้อมูลที่ต้องการจะได้จากตัวอย่างดินประเภทใดที่เหมาะสมกับงานที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยคำนึงด้านวิศวกรรมและความประหยัดเป็นหลัก ในบางครั้ง การเก็บตัวอย่างดินอาจไม่จำเป็นเลย โดยสามารถใช้การทดสอบการตอกทดลอง (SPT) หรือ Cone Penetration Test ในสนามแทน แต่ในทางตรงกันข้าม การเก็บตัวอย่างดินคงสภาพตลอดความยาวของหลุมสำรวจก็มีความจำเป็นในบางครั้ง เช่น ใช้ในการวิเคราะห์กำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มขนาดใหญ่ การวิเคราะห์เสถียรภาพของฐานรากและการทรุดตัวของชั้นดินเหนียวอ่อน เป็นต้น

การเก็บตัวอย่างดิน โดยทั่ว ๆ ไป จะทำควบคู่กับการเจาะสำรวจ คือ เมื่อเจาะถึงระดับที่ควรจะเก็บตัวอย่างก็จะทำความสะอาดก้นหลุมเสียก่อน โดยการฉีดน้ำหรือลมไล่เศษตะกอนออกไป แล้วจึงนำเอากระบอกเก็บตัวอย่างดินกดลงในชั้นดินด้วยความระมัดระวัง ให้ได้ความยาวตามต้องการ แล้วนำขึ้นมา อุดปลายกระบอกด้วยขี้ผึ้งกันความชื้น โดยมีฉลากรายละเอียดของตัวอย่างปิดไว้โดยชัดเจน แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการโดยเร็ว

Comments are closed.