เจาะดินป้องตึกทรุด แนะลูกบ้านเช็กประวัติที่ดินที่จมน้ำ-ริมตลิ่งเสี่ยง

เริ่มโดย denichammy, พฤษภาคม 29, 2013, 12:15:10 pm

« หน้าที่แล้ว - ต่อไป »

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

denichammy

 :D เจาะดินป้องตึกทรุด แนะลูกบ้านเช็กประวัติที่ดินที่จมน้ำ-ริมตลิ่งเสี่ยง : วสท.ออกโรงเตือนผู้ประกอบการ-วิศวกรออกแบบก่อสร้างอาคารทั้งบ้านอยู่อาศัย-ตึกสูงใหญ่ต้องศึกษาประวัติทำเล จี้ควักกระเป๋าเพิ่มเจาะสำรวจชั้นดินไม่ควรใช้การคาดคะเนโฟกัสพื้นที่น้ำท่วม บ่อปลา ที่ทิ้งขยะเก่าชานเมืองปริมณฑลทำเลริมน้ำตอกเสาเข็มไม่ลึกพอถมดินไม่แน่นมีสิทธิ์ทรุดเอียงสูง  ตัวอย่างอพาร์ตเมนต์ย่านรังสิต นายกสมาคมบ้านจัดสรรยันน้ำท่วมไม่กระทบใช้เข็มเจาะจนตอกไม่ลง

การทรุดเอียงของอาคารเกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่ละครั้งมีสาเหตุต่างกันออกไปอย่างรายล่าสุดอพาร์ตเมนต์สูง 7 ชั้น หลังห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต จังหวัดปทุมธานี สร้างความหวาดผวาให้กับผู้อยู่อาศัยในย่านเดียวกันไม่น้อย และเชื่อว่าในหลายพื้นที่อาจอยู่ในข่ายเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวได้เช่นกัน หากผู้ประกอบการและวิศวกรผู้ออกแบบร่วมมือกันประหยัดต้นทุนจนเกินไปโดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมเป็นเวลานานและทำเลริมน้ำ

ต่อเรื่องนี้นาย สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าสมาคม ได้มีมาตรการลงโทษวิศวกรผู้ออกแบบที่ประมาทเลินเล่อ หรือสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าของอาคารเพื่อลดต้นทุนต่างๆในการออกแบบก่อสร้างอาคารไม่ให้เป็นไปตามวิชาชีพจนเกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินกับผู้ใช้อาคารและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงทุกราย

ล่าสุดกรณีอาคารอพาร์ตเมนต์ สูง 7 ชั้นหลังเซียร์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ที่การเอียงเกิดจากความผิดพลาดของวิศวกรผู้ออกแบบที่ไม่ได้เจาะสำรวจชั้นดินไปตรวจสอบว่าดินสามารถรับน้ำหนักของอาคารได้มากน้อยแค่ไหน   ซึ่งเสาเข็มที่ตอกลงไป หากเจอดินอ่อนจะเสี่ยงต่อการทรุด อย่างไรก็ดีเมื่อพบปัญหาควรเจาะให้ลึกจนกว่าจะเจอชั้นดินแข็ง
ที่ผ่านมาเท่าที่ทราบอพาร์ตเมนต์ดังกล่าวน่าจะเกิดจากการคาดคะเนจากการเฉพาะค่าเฉลี่ยที่ใช้ตอกเสาเข็มทั่วไปแต่อาจไปเจอชั้นดินอ่อนทำให้ไม่สามารถยึดเกาะเสาเข็มได้ส่งผลให้อาคารเกิดการทรุดเอียง

ต่อข้อถามที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่จะมีส่วนทำให้อาคารทรุดเอียงได้หรือไม่ นายสุวัฒน์สะท้อนว่า ตามข้อเท็จจริงไม่น่าจะเกี่ยวโดยตรง แต่ตามหลักปฏิบัติ เจ้าของโครงการควรเพิ่มค่าใช้จ่ายด้วยการให้วิศวกรเจาะสำรวจชั้นดินแต่เท่าที่ทราบอาคารดังกล่าว ไม่น่าจะมีการเจาะสำรวจชั้นดิน  โดยทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลดินจะอ่อนอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องตอกเสาเข็มเฉลี่ยลึกประมาณ 18-21 เมตร ส่วนต่างจังหวัดจะแตกต่างออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมาตรฐานความลึก 18-21เมตร ในเขตกทม.และปริมณฑลไม่ใช่มาตรฐานที่ชัดเจนเสมอไปที่ถูกต้องที่สุดคือวิศวกรต้องเจาะชั้นดินวิเคราะห์ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงที่สุด

นอกจากนี้ หากต้องการตรวจสอบซ้ำว่า ความลึกของเสาเข็มที่เจาะลงไปจะมีความมั่นคงแข็งแรงและรองรับน้ำหนักอาคารได้หรือไม่ เจ้าของอาคารจะต้องลงทุนเพิ่มโดยให้วิศวกร วัดระดับน้ำหนักเทียบเท่ากับตัวอาคารที่จะสร้าง ทิ้งดิ่งหรือตั้งลงไปบนเสาเข็มหากเสาเข็มรับน้ำหนักได้ ก็ถือว่า ก่อสร้างได้ และปลอดภัยหากไม่สามารถรับน้ำหนักได้ วิศวกรและเจ้าของอาคารต้องตรวจสอบใหม่

อย่างไรก็ดี อาคารสูง-ใหญ่ ที่มีชื่อเสียงในกทม. มักไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมักเจาะสำรวจชั้นดินแต่ที่น่าห่วงจะเป็นอาคารเตี้ยหรือบ้านจัดสรร  ยิ่งโซนประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่  ในเขตปริมณฑล หรือทำเลที่ออกไปทางชานเมือง ทำเลริมตลิ่งที่ถูกน้ำท่วม อาจดินสไลด์ได้ เนื่องดินอุ้มน้ำ หรือแช่น้ำอยู่นานคุณสมบัติเกาะยึดลดลงกลายเป็นดินอ่อน  ดังนั้นวิศวกรออกแบบต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ฐานรากแข็งแรง

โดยปัจจุบันวิศวกรและผู้ประกอบการมักใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยโดยเทียบกับแปลงข้างเคียงเช่นบ้านข้างเคียงเจาะ3 เมตร  แต่ที่จริงแล้วไม่ควรประมาท แม้แปลงติดกันแต่ประวัติของแต่ละแปลงไม่เหมือนกันบางแปลงเคยเป็นบ่อขยะเก่าหรือบ่อปลา คูคลองธรรมชาติมาก่อน ตัวอย่างอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้นย่านนนทบุรี ก่อสร้างขึ้นและในเวลาต่อมาได้ทรุดตัวหายลงไปในหลุมทั้งแท่งต่อมาทราบว่าเสาเข็มที่เจาะจากการคาดคะเน เจาะเสาเข็มลงไปแม้ว่าลึกมากแต่ปรากฏว่าไปตรงกับชั้นบ่อขยะพอดี ทำให้ทรุดตัว หรือกรณีมีหมู่บ้านชื่อดังรายหนึ่ง ย่านลำลูกกาที่เจ้าของถมที่ดินไม่แน่นประกอบกับเป็นบ่อปลาเก่าทำให้ทรุด ดังนั้นกรณีผู้ซื้อบ้านก่อนตัดสินใจซื้อบ้านต้องศึกษาทำเลที่เหมาะสมให้ดี

ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรกล่าวว่าบ้านจัดสรรที่อยู่ในโซนอุทกภัยปี 2554 ไม่มีผลกระทบทำให้บ้านทรุดอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการใช้เข็มเจาะ 2 แบบ คือ 1. ตอกเข็มจนกว่าจะตอกไม่ลงหรือ เจอดินแข็งแบบสุดๆ 2. ตอกเข็มที่อาจจะไม่เท่ากันทุกต้นแต่ละต้นจะตอกจนกว่าจะตอกไม่ลง ซึ่งปัจจุบันมักนิยมเข็มยาว 21 เมตรโดยเฉพาะในเขตกทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าดินอ่อนโดย 1-3 เมตรจะมีแต่น้ำแต่เมื่อเจาะลึกลงไปก็จะเจอดินแข็งทำให้ไม่มีผลกระทบ ส่วนทำเลริมน้ำริมตลิ่งอาจเจอปัญหาดินสไลด์ได้บ้างหากไม่มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโดยบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด มีมาตรการให้แบบบ้านกรณีการตอกเสาเข็มให้ลูกค้าไป 1ชุดเพื่อให้ลูกค้าตรวจสอบอีกด้วยเพื่อความมั่นใจ

การทรุดตัวของอาคารเกิดจากอะไร

1. การก่อสร้างอาคารในระบบฐานรากตื้น เช่น ใช้เสาเข็มสั้น 6 เมตร, เข็มไม้, ฐานรากแผ่, หรือพื้นชนิดวางบนดิน โดยเฉพาะชั้นดินในกรุงเทพฯและปริมณฑล ดินชั้นบนมีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน เกิดการยุบอัดตัว หรือทรุดตัวได้มาก กรณีเช่นนี้ถือว่าไม่อันตรายแต่อย่างใด ถ้าโครงสร้างมีการทรุดตัวเท่าๆ กัน
2. การก่อสร้างที่ใช้ระบบฐานรากแตกต่างกัน เช่น งานต่อเติม, ดัดแปลง เป็นต้น ในกรณีนี้ถ้าดำเนินการก่อสร้างไม่ถูกหลักวิศวกรรม ไม่มีการตัด Joint หรือมีการเชื่อมโครงสร้างส่วนหนึ่งส่วนใดเข้ากับตัวบ้าน อาจเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน, ทรุดร้าว, ทรุดเอียง ถ้ามีการเชื่อมโครงสร้างกับโครงสร้างเดิม อาจเกิดการยึดรั้งและส่งผลกับโครงสร้างเดิมด้วย โดยถ้าโครงสร้างหลักมีการแตกร้าวถือว่าเป็นการทรุดที่อันตราย
3. ความบกพร่องของเสาเข็มเอง เช่น เสาเข็มหัก, เสาเข็มชำรุด, เสาเข็มเดี่ยวเยื้องศูนย์, ฐานรากพลิก, เสาเข็มตอกไม่ได้ Blow Count เป็นต้น ส่วนใหญ่จะรู้เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วเกิดความบกพร่องให้เห็น เช่น ผนังร้าวในแนวทแยง 45 องศา คล้ายๆ กันในทุกชั้น, มีเสียงโครงสร้างลั่น เป็นต้น ถือเป็นการทรุดที่อันตรายและจำเป็นต้องรีบแก้ไขเช่นเดียวกัน
4. การออกแบบฐานรากที่ผิดพลาด เช่น ไม่มีการเจาะสำรวจดิน, น้ำหนักบรรทุกจริงที่ถ่ายลงเสาเข็มต่อต้น ในแต่ละฐานรากไม่เท่ากัน เป็นต้น

เราจะรู้ได้อย่างไร...ว่าอาคารของเราเกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน?

1. ระดับพื้นเอียง อาจทดสอบได้โดยการถ่ายระดับน้ำหรือกลิ้งวัตถุทรงกลมบนพื้นเพื่อตรวจสอบระดับที่แตกต่างกัน
2. เกิดการแตกร้าวเป็นมุมเฉียง 45 องศาที่ผนัง โดยรอยแตกที่กว้างและยาวขึ้นแสดงถึงการทรุดตัวที่มากขึ้น 
3. โครงสร้างหลักมีการแตกร้าว เช่น เสา คาน พื้น โดยอาการของการแตกร้าวจะแตกต่างกันออกไป รวมถึงมีเสียงแตกลั่นในบางครั้ง  :wanwan001:

ที่มา :ฐานเศรษฐกิจ