เจาะสำรวจชั้นดิน…ไม่ง่ายอย่างที่คิด…

ฐานรากเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ถ้าฐานรากวิบัติก็หมายถึงอาคารทั้งหลังมีโอกาสวิบัติไปด้วย แต่เป็นเรื่องแปลกที่วิศวกรหลายคนกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเจาะสำรวจดินเพื่อการออกแบบฐานราก

ผมเคยได้รับคำถามง่าย ๆ ที่ตอบยากหลายครั้ง เช่น “ที่ขอนแก่นใช้เสาเข็มยาวเท่าไร” “ที่มหาสารคามใช้ฐานแผ่ได้ไหม” เป็นต้น และยังมีการแนะนำจากวิศวกรรุ่นพี่ที่ถ่ายทอดสู่รุ่นน้องแบบผิด ๆ อีกเคยได้ยินคนพูดว่ากำลังของเสาเข็มหน่วยเป็นตันจะเท่ากับขนาดของเสาเข็มหน่วยเป็นเซนติเมตร เช่น เข็มขนาด 30 เซ็นติเมตรจะรับน้ำหนักได้ 30 ตัน ถ้างานฐานรากง่ายอย่างที่ถามหรือพูดกัน คงไม่จำเป็นต้องสอนวิชาวิศวกรรมฐานรากกันแล้ว

boring test view

ปัจจุบันสถานการณ์ดูจะดีขึ้น หลังจากมีอาคารวิบัติเป็นข่าวให้เห็นกัน ประกอบกับแบบก่อสร้างของหน่วยงานราชการ มักจะกำหนดให้มีการเจาะสำรวจดิน เป็นเหตุให้มีการเจาะสำรวจดินเพื่อการออกแบบฐานรากมากขึ้น แต่ปัญหาที่เข้ามาแทนที่ ก็คือ กระบวนการเจาะสำรวจและจัดทำรายงานที่ไม่ถูกต้อง ทั้งหลักวิชาวิศวกรรมปฐพีและหลักกฎหมาย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าของกิจการรับเหมาก่อสร้างในต่างจังหวัด จะไม่ค่อยสนใจเรื่องคุณภาพของงาน ขอให้มีรายงานเจาะดินเพื่อเบิกจ่ายเงินได้ก็พอแล้ว

ในต่างจังหวัดจะพบเห็นการเจาะสำรวจดินโดยวิศวกรกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นข้าราชการ มารับงานเจาะสำรวจดินเป็นงานพิเศษ รับค่าจ้างต่ำ จึงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้รับเหมาก่อสร้างมาก เพื่อให้เข้าใจปัญหา ขอให้ท่านผู้อ่านดูรูปที่ 1 ถึง 3 แล้วพิจารณาว่ามีอะไรที่เป็นข้อสงสัยบ้าง รูปเหล่านี้คือ (สิ่งที่ผู้ทำรายงานเรียกว่า) Boring Log นำมาจากรายงานการเจาะดินจริง แต่ผมต้องขอปิดบังข้อมูลของโครงการและวิศวกรไว้ อย่าพึ่งอ่านบทความนี้ต่อนะครับลองดูแล้วพิจารณาก่อน

ถ้าพิจารณาแล้วก็ลองดูความเห็นผมบ้าง เอาเฉพาะประเด็นใหญ่ ๆ เห็นง่าย ๆ นะครับ ในรูปแรกจำแนกดินชั้นบนเป็น GP (กรวดที่มีการกระจายขนาดไม่ดี) ทั้ง ๆ ที่ดินผ่านตะแกรงเบอร์ 4 ทั้งหมด นั่นคือ ไร้ซึ่งกรวดในมวลดินเลย ชั้นดินก่อนล่างสุดจำแนกว่าเป็น CL (ดินเหนียวที่มีสภาพพลาสติคต่ำ) แต่ดินผ่านตะแกรงเบอร์ 200 ไม่ถึงครึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกดินได้ โดยไม่ต้องหาค่าพิกัดอัตเตอร์เบอร์ก รูปที่ 2 จะเห็นว่าจำแนกดินชั้นบนเป็น SM-SC ทั้ง ๆ ที่ระบุว่าเป็น NP (Non-Plastic) และดินชั้นล่างเป็น CL โดยที่ดินผ่านตะแกรงเบอร์ 200 เพียงร้อยละ 20

รูปที่ 1

summary test results2

รูปที่ 2

boring log wrong

รูปที่ 3

รูปที่ 3 ยิ่งอาการหนัก สามารถจำแนกประเภทดินได้ โดยไม่ต้องวิเคราะห์การกระจายขนาดและไม่ต้องหาพิกัดอัตเตอร์เบอร์ก แถมยังมีดินจำแนกเป็น MH ด้วย ซึ่งหมายถึงตะกอนทรายหรือทรายแป้งที่มีค่าพิกัดพลาสติคเกินร้อยละ 50 ผมทำงานยี่สิบกว่าปียังไม่เคยพบหรือได้ยินว่าใครพบดินชนิดนี้เลย

ตัวอย่างเหล่านี้มาจากรายงานเจาะสำรวจดิน ซึ่งในรายงานเหล่านี้มีลักษณะเด่นเหมือนกันคือ ท้ายเล่มมีการถ่ายเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ มีทั้งมาตรฐานการทดสอบ กราฟและตารางจากตำรา ส่วนใหญ่เป็นถ่ายเอกสารซ้ำแล้วซ้ำอีก มีทั้งเลอะเลือนและบิดเบี้ยว ที่สำคัญคือ สิ่งที่ใส่เข้ามานี้ หลายส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับรายงานที่ทำไว้ในเล่ม ก็จำแนกประเภทดินยังผิดแล้วจะไปหวังอะไรกับรายการคำนวณ

รายงานฉบับหนึ่งที่ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าแย่มาก คือ การทำรายการคำนวณเพื่อให้ได้กำลังของเสาเข็มสูงเท่าที่ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้รับเหมาต้องการ พารามิเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณไม่ได้มาจาก Boring Log และไม่รู้มาจากไหน คนทำรายการคำนวณเป็นภาคีวิศวกรโยธาและเป็นข้าราชการ โดยมีหัวหน้าซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมลงนามรับรอง คนอ่านรายงานซึ่งไม่ใช่วิศวกรโยธา ย่อมไม่เข้าใจการคำนวณออกแบบ จะดูก็แค่เสาเข็มรับน้ำหนักได้เท่าไรเท่านั้น คนในวงการวิศวกรรมกำลังไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพหรือเปล่าครับ

ลองดูในรูปที่ 4 นะครับเป็นแบบฟอร์มที่ใช้กันทั่วไป เห็นอะไรบ้าง สิ่งแรกเลยก็คือ เอกสารนี้ทำเมื่อปี 2552 แต่อ้างถึง พรบ. ปี 2505 ทั้ง ๆ ที่มี พรบ.วิศวกรออกมาใหม่ในปี 2542 ซึ่งมาตรา 3 ก็ระบุว่า ให้ยกเลิก พรบ. ปี 2505 แล้ว วิศวกรหลายคนเล่าให้ฟังว่า เคยทักท้วงเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการหลายแห่งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันให้ใช้ตามนี้ด้วย เหตุผลว่าเป็นฟอร์มของราชการที่ใช้มานานแล้ว นอกจากนี้ ตัวอย่างในรูปที่ 4 เป็นการรับรองการแนะนำให้ใช้ฐานรากเสาเข็มรับน้ำหนักบรรทุกออกแบบ 25 ตันของภาคีวิศวกรโยธาท่านหนึ่ง ไม่ทราบว่าวิศวกรท่านนี้ ทราบหรือไม่ว่าตามข้อบังคับของสภาวิศวกร เสาเข็มที่รับน้ำหนักบรรทุกออกแบบตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไปต้องออกแบบโดยสามัญหรือวุฒิวิศวกรโยธา ยิ่งไปกว่านั้น การเจาะสำรวจดินแล้วจัดทำรายงานในลักษณะให้คำแนะนำแบบนี้ ต้องทำโดยวุฒิวิศวกรโยธา

รูปที่ 4

ที่นำมาให้ดูเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น มีการทำผิดในลักษณะนี้อีกมาก น่าตกใจที่มีบางงานไม่ได้เจาะสำรวจจริง ยกเครื่องมือไปตั้งแล้วก็นั่งเทียนเอา คิดค่าใช้จ่ายถูกลงอีก ผู้รับเหมาบางรายก็ชอบ ส่วนเวลาก็สร้างจริงก็ถาม ๆ เอาจากชาวบ้านแถวนั้น ลองขุดดินดู ถ้ามีชั้นดินแข็งอยู่ตื้นก็ทำฐานแผ่ไป แล้วให้ทำรายงานเจาะดินให้สอดคล้องกับที่สร้าง รายงานเจาะสำรวจดินไม่ได้ส่งไปให้ใครตรวจสอบอีก จบและก็เก็บอยู่ที่หน่วยงานราชการในท้องที่นั้นเอง

โชคดีของผู้ทำผิดเหล่านั้นที่ไม่มีใครฟ้องร้อง แต่จะมีโชคดีตลอดไปหรือไม่ คุ้มหรือไม่ที่เสี่ยงต่อความผิดเพื่อผลประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าอาคารที่ก่อสร้างไปมีปัญหา จะรับผิดชอบอย่างไรต่อความเดือดร้อนของเจ้าของอาคาร จะรับผิดชอบอย่างไรต่อเชื่อเสียงของวงการวิศวกรรม ที่ผ่านมาอาคารที่ก่อสร้างฐานรากโดยใช้ข้อมูลและการคำนวณผิด ๆ เหล่านี้ยังไม่ปรากฏปัญหาก็น่าจะด้วยโชคช่วยอีกเช่นกัน เท่าที่เห็นก็คือการเจาะสำรวจดินจะเน้นการหาชั้นดินแข็งแล้วให้ปลายเสาเข็มวางอยู่ที่ชั้นนั้น หรือถ้าพบชั้นดินแข็งแรงอยู่ตื้นก็ใช้ฐานรากแผ่ และใช้อัตราส่วนปลอดภัยสูง ๆ ดังนั้นผลการเจาะสำรวจและรายการคำนวณที่ผิด ๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของฐานรากเลย

ถ้าวันหนึ่งโชคไม่ช่วย เช่น ชั้นดินแข็งที่พบเป็นชั้นบาง ๆ หรือเป็นดินที่ไวต่อการรบกวนของน้ำทำให้สูญเสียความแข็งแรง หรือชั้นดินไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน หรือผู้รับเหมาทำงานมั่ว ๆ แล้วไปทำรายงานช่วยเขา แล้วสุดท้ายอาคารเกิดวิบัติ วิศวกรที่รับผิดชอบการเจาะสำรวจดินคงหมดอนาคต และยังมีคดีความอีกเป็นของแถมอีกด้วย นอกจากนี้ ถึงแม้อาคารจะไม่มีปัญหา แต่รายงานที่ไม่ถูกต้องก็คือหลักฐานที่จะทำให้วิศวกรเดือดร้อนได้ อย่าประมาทว่า รายงานเหล่านี้อยู่ที่หน่วยงานท้องถิ่นแล้วจะไม่มีใครเห็นนะครับ ผู้ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานเหล่านั้นยังมีรายงานลักษณะนี้อยู่ในมือหลายเล่ม เลยคิดใหม่ทำใหม่เถอะครับ…

บทความนี้เขียนโดย รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา
ที่มา : โยธาสาร ปีที่ 22 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม – สิงหาคม 2553, หน้าที่ 73-76
ตามใบอนุญาตที่ ศธ 0514.4.2/ 446

Comments are closed.