ความหมาย ความเป็นมา วันขึ้นปีใหม่

การ์ดอวยพรปีใหม่

ขอให้มีความสุขมาก ๆ ในปีกระต่ายนี้นะ

วันขึ้นปีใหม่

ที่มา : หนังสือวันสำคัญ โครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม
โดย : สำนักงานคณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
รวบรวมโดย : สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก

ปีใหม่ เป็นเรื่องของวันเดือนหมุนเวียนมาบรรจบครบรอบ ๓๖๕ วัน (๑) หรือ ๑๒ เดือน ซึ่งสมมติกันว่าปีหนึ่งหมดไป ขึ้นวันเดือนใหม่ของอีกปีหนึ่ง ก็เรียกกันว่าปีใหม่ แล้วเปลี่ยนนักษัตรประจำปีใหม่เป็น ชวด ฉลู ขาล เถาะ เป็นต้น และเปลี่ยนพุทธศักราช (พ.ศ.) ใหม่

ความเป็นมา

ประเพณีปีใหม่ของไทยในสมัยอยุธยาและ รัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในพระราชพิธีสิบสองเดือนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า ในกฎมนเทียรบาลมีการสมโภชและเลี้ยงลูกขุน ซึ่งตรงกับการเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง จึงทรงกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นเวลาเช้ามีการพระราชกุศล สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำเชิญพระสยามเทวาธิราชและเชิญเจว็ดรูปพระภูมิเจ้าที่จากหอแก้วออกมา ตั้งที่บุษบกมุขเจ็ดพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตั้งเครื่องสังเวยที่พื้นชาลา หน้ามุขเด็จตั้งพระราชอาสน์ที่ประทับ ณ ศาลาคด มีละครหลวงแสดงและตั้งโต๊ะ พระราชทานเลี้ยง

ครั้งต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นทางสุริยคติ ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖ ร.ศ. ๑๐๘ หน้า ๕) และโปรดให้ใช้รัตนโกสินทรศกในการนับปี ตั้งแต่ ร.ศ. ๑๐๘เป็นต้นมา สำหรับพระราชพิธีปีใหม่นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาประสาท พระราชทานฉลากแก่พระบรมศานุวงศ์และข้าราชการบางคน ครั้นพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่ชาลาหน้าพระ ที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรละครหลวง แล้วเสด็จฯ กลับ

ส่วนวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้นกำหนดเป็นพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ตลอดมาจนทุกวันนี้ ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๕(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๙ ร.ศ. ๑๓๑ พ.ศ. ๒๔๕๕ หน้า ๒๖๔ – ๒๖๙) และต่อมาใน พศ.ศ. ๒๔๕๖(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๐/๓ พ.ศ. ๒๔๕๖ หน้า ๔๘๗ – ๔๙๐) โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ เริ่มการพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ ๒๘มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน

การพระราชพิธีในวันที่ ๒๘ มีนาคม เรียกว่าตั้งน้ำวงด้ายมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสวดภาณวารในพระที่นั่งอม รินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๙ มีนาคม เลี้ยงพระ อ่านประกาศสังเวยเทวดา สวดอาฎา – นาฎิยสูตร ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค วันที่ ๓๐ มีนาคม พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิมแก่พระราชวงศ์ วันที่ ๓๑ มีนาคม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันที่ ๑ เมษายน เสด็จสรงน้ำพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร เลี้ยงพระในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สรงมูรธาภิเษกที่ชานหน้าพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส (พระที่นั่งราชฤดีในปัจจุบัน) ถ้ามีพระราชวงศ์จะโสกันต์ก็กำหนดในงานพระราชพิธีนี้สดับปกรณ์พระบรมอัฐิและ พระอัฐิ เวลาบ่ายมีงานอุทยานสโมสร กระทรวงวังจัดที่ลงพระนามและนามถวายพระพร วันที่ ๒ เมษายน เสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จฯ ไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอราชพงศานุสร หอราชกรมานุสร พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป หอพระคันธารราษฎร์ และพระวิหารยอด แล้วสดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้าและพระอัฐิ พระบรมวงศ์ที่หอพระนาก เวียนเทียนสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วันที่ ๓ เมษายน พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ถือน้ำแล้วไปถวายบังคมพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ที่หน้าพระที่นั่งสนามจันทร์ในกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

ครั้งต่อมาในรัชกาลที่ ๘ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอา นันทมหิดล ได้ประกาศให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ แผนกกฤษฎีกา ภาค ๑ – ๒ พ.ศ. ๒๔๘๔ หน้า ๓๑ – ๓๓) เพราะวันที่ ๑ มกราคมใกล้เคียงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี และเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพระพุทธศาสนา และตรงกับนานาประเทศ โดยให้เริ่มใช้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นไป จึงได้กำหนดการพระราชพิธีขึ้นปีใหม่ (หมายกำหนดการพระราชพิธี พุทธศักราช ๒๔๘๓) มีรายละเอียดดังนี้

วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มายังพระที่นั่งอมรินทรวินิฉัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันที่ ๑ มกราคม ศ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรที่ในพระ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน แล้วสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระอัฐิสมเด็จพระบรมวงศ์

วันนี้มีการลงชื่อถวายพระพรที่ในพระบรม มหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๑๐ นาฬิกา ถึง ๑๖ นาฬิกา

วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๙ นาฬิกา คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงปูชนียวัตถุ คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ แล้วสดับปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรและพระอัฐิพระราชวงศ์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิ พลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวัน ขึ้นปีใหม่ ไปไว้ในพระราชพิธีสงกรานต์ ซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ตามโบราณราชประเพณีซึ่งเป็นเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ ๑๓ – ๑๔ – ๑๕ เมษายน

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชกุศลสวดมนต์ เลี้ยงพระในวันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนเป็นเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรวัน ขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๐๑(หมายกำหนดการพระราชพิธี พุทธศักราช ๒๕๐๐) มีรายละเอียดดังนี้

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวัง ดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวัง ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธปฎิมาที่พระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรภายในท้องพระโรง

เวลา ๗ นาฬิกา เสด็จฯ ลงยังสนามหญ้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยแล้วทรงบาตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยจัดเป็นสาย ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ๕๐ รูป นอกนั้นสายละ ๒๕ รูป รวมพระสงฆ์ ๓๐๐ รูป เสร็จแล้วเสด็จฯ ขึ้น งานนี้แต่งเครื่องแบบปรกติขาว งานนี้มีสังข์ แตร ปี่พาทย์ ประโคมบรรเลงตั้งแต่เสด็จทรงจุดเทียนจนเสด็จขึ้น

วันนี้ เวลา ๙ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา สำนักพระราชวังจะได้จัดที่สำหรับลงพระนามและนามถวายพระพรไว้ที่พระบรมมหาราช วัง

ครั้ง พ.ศ. ๒๕๐๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม (หมายกำหนดการ พุทธศักราช ๒๕๐๑) ซึ่งเป็นวันสิ้นปี

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานส่วนพระองค์ ณ พระราชฐานที่ประทับ

(คัดจากหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ ๓ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ หน้า ๑๖๖ – ๑๖๕)

พิธีของราชการและประชาชนสำหรับงานของ ทางราชการและประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ก็จะมี ตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม จนถึงวันที่ ๑ มกราคม เช่นที่เคยยึดถือมาเดิม คือในวันสิ้นปี หรือวันที่ ๓๑ ธันวาคม ทางราชการหรือประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ จัดให้มีการรื่นเริงและมหรสพ มีพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา กล่าวคำปราศรัย พอถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. วัดวาอารามต่าง ๆ จะจัดพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้องกลอง ระฆัง เพื่อแสดงความยินดีต้อนรับรุ่งอรุณแห่งชีวิตของประชาชนในปีใหม่โดยทั่วกัน ตอนเช้าวันที่ ๑ มกราคม ก็จะมีการทำบุญตักบาตรสุดแท้แต่การจัด บางปีมีการจัดร่วมกัน บางปีบางท้องที่ก็ไปทำบุญตักบาตรกันที่วัดหรือที่ใด ๆ บางท่านบางครอบครัวก็มีการทำบุญตักบาตรหรือการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านที่ สำนักงานของตน

(คัดจากหนังสือ ประเพณีไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ หน้า ๑๒)

ที่มา : blog.eduzones.com

Comments are closed.